สามัคคีเภทคำฉันท์

สามัคคีเภทคำฉันท์
สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิยายคำฉันท์ขนาดสั้นไม่กี่สิบหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงดงามทางวรรณศิลป์ ทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยด้วย
หนังสือ สามัคคีเภทคำฉันท์ (ฉบับกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ เขียนเว้นวรรค เป็น “สามัคคีเภท คำฉันท์”) นี้ นายชิต บุรทัต ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของกวีผู้นี้

เนื้อเรื่อง
สามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ครั้งพุทธกาล ว่าด้วยการใช้เล่ห์อุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี เนื้อความนี้มีปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แห่งพระไตรปิฎก และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินี โดยเล่าถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ทรงมีอำมาตย์คนสนิทชื่อ วัสสการพราหมณ์ ทรงมีดำริจะปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีครอบครอง แต่แคว้นวัชชีมีความเป็นปึกแผ่นและปกครองกันด้วยความสามัคคี
พระเจ้าอชาตศัตรูปรึกษากับวัสสการพราหมณ์เพื่อหาอุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี โดยการเนรเทศวัสสการพราหมณ์ออกจากแคว้นมคธ เดินทางไปยังเมืองเวสาลี แล้วทำอุบายจนได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวี และในที่สุดได้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย ครั้นได้โอกาส ก็ทำอุบายให้ศิษย์แตกร้าวกัน จนเกิดการวิวาท และเป็นเหตุให้ความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีถูกทำลายลง เมื่อนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี สามารถปราบแคว้นวัชชีลงได้อย่างง่ายดาย

คำประพันธ์
คำประพันธ์ที่ใช้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นใช้ฉันท์และกาพย์สลับกัน จึงเรียกว่า คำฉันท์ โดยมีฉันท์ถึง 20 ชนิดด้วยกัน นับว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เล่มหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังยกย่องและนับถือเป็นแบบเรื่อยมา โดยเน้นจังหวะลหุ คือเสียงเบาอย่างเคร่งครัด กำหนดเป็นสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เสมอ

ชนิดของฉันท์ที่ใช้แต่ง
กมลฉันท์, กาพย์ฉบัง, จิตรปทาฉันท์, , โตฏกฉันท์, ภุชงคประยาตฉันท์, มาณวกฉันท์, มาลินีฉันท์, วสันตดิลกฉันท์, วังสัฏฐฉันท์, วิชชุมมาลาฉันท์, สัททุลวิกกีฬิตฉันท์, สัทธราฉันท์, สาลินีฉันท์, สุรางคนางค์ฉันท์, อินทรวิเชียรฉันท์, อินทรวงศ์ฉันท์, อีทิสังฉันท์, อุปชาติฉันท์, อุปัฏฐิตาฉันท์ และอุเปนทรวิเชียรฉันท์
อนึ่ง แม้จะใช้กาพย์ฉบัง แต่ก็ยังจัดในหมวดของฉันท์ได้ ทั้งนี้กาพย์ฉบังที่ใช้ในเรื่อง กำหนดเป็นคำครุทั้งหมด

สามัคคีเภทคำฉันท์
กวี : ชิต บุรทัต

ประเภท : นิยายคำฉันท์
คำประพันธ์ : คำฉันท์
ความยาว : 410 บท
สมัย : รัตนโกสินทร์

ปีที่แต่ง : พ.ศ. 2457
ชื่ออื่น : –

วัตถุประสงค์
เพื่อมุ่งชี้ความสำคัญของการรวมเป็นหมู่คณะ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อป้องกันรักษาบ้านเมืองให้มีความเป็นปึกแผ่น สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “โทษแห่งการแตกสามัคคี” ภายหลังได้รับการยกย่องเป็นตำราเรียนวรรณกรรมไทยที่สำคัญเล่มหนึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ลิขสิทธิ์ :

ประวัติของเรื่อง
ในสมัยรัชกาลที่6 เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น สงครามโลกครั้งที่1กบฏ ร.ศ.130 ทำให้เกิดความตื่นตัวทางความคิด มีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการบ้านเมืองแตกต่างกันเป็นหลายฝ่าย จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงของบ้านเมือง ในภาวะดังกล่าวจึงมีการแต่งวรรณคดีปลุกใจให้มีการรักษาขึ้นโดยเรื่องสามัคคีเภทแต่งขึ้นในปี พ.ศ 2457 โดยมุ่งเน้นความสำคัญของความสามัคคีเพื่อรักษาบ้านเมืองสามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นกวีนิทานสุภาษิต ว่าด้วย “โทษแห่งการแตกสามัคคี” ภายหลังได้รับการยกย่องเป็นตำราเรียนวรรณกรรมไทยที่สำคัญเล่มหนึ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เนื้อเรื่องโดยย่อ
สามัคคีเภทคำฉันท์ มีว่าสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไม่นานนัก พระเจ้าอชาตศัตรูทรงครองราชสมบัติที่นครราชคฤห์ แคว้นมคธ พระองค์ทรงมีวัสสการพราหมณ์ ผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาราชกิจทั่วไป ขณะนั้นทรงปรารภจะแผ่พระราชอาณาเขตเข้าไปถึงแคว้นวัชชี แต่กริ่งเกรงว่ามิอาจเอาชนะได้ด้วยการส่งกองทัพเข้ารุกราน เนื่องจากบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมีความสามัคคีสูง และการปกครองอาณาประชาราษฎ์รด้วยธรรม อันนำความเจริญเข้มแข็งมาสู่แว่นแคว้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงหารือเรื่องนี้เป็นการเฉพาะกับวัสสการพราหมณ์ จึงเห็นแจ้งในอุบายจะเอาชนะด้วยปัญญาวันหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกว่าราชการพร้อมพรั่งด้วยเสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ เมื่อเสร็จวาระเรื่องอื่นๆลงแล้ว จึงตรัสในเชิงหารือว่า หากพระองค์จะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชีใครจะเห็นคัดค้านประการใดวัสสการพราหมณ์ฉวยโอกาสเหมาะกับอุบายตนที่วางไว้ ก็กราบทูลท้วงว่าเห็นทีจะเอาชนะไม่ได้เลย เพราะกษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์ล้วนผูกพันเป็นกัลยาณมิตรอย่างมั่นคง มีความสามารถในการศึกและกล้าหาญ อีกทั้งโลกจะติเตียน หากฝ่ายมคธจงใจประทุษร้ายรุกรานเมืองอื่น ขอให้ยับยั้งการทำศึกเอาไว้เพื่อความสงบของประชาราษฎร์พระเจ้าอชาตศัตรูทรงแสร้งแสดงพระอาการพิโรธหนัก ถึงขั้นรับสั่งจะให้ประหารชีวิตเสีย แต่ทรงเห็นว่าวัสสการพราหมณ์รับราชการมานาน จึงลดโทษการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งนั้น เพียงแค่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัสจนสลบไสล ถูกโกนหัวประจานและ เนรเทศออกไปจากแคว้นมคธ ข่าววัสสการพราหมณ์เดินทางไปถึงนครเวสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี ทราบไปถึงพระกรรณของหมู่กษัตริย์ลิจฉวี จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานตีกลองสำคัญเรียกประชุมราชสภาว่า ควรจะขับไล่หรือเลี้ยงเอาไว้ดี ในที่สุดที่ประชุมราชสภาลงมติให้นำเข้าเฝ้าเพื่อหยั่งท่าทีและฟังคารมก่อน
แต่หลังจากกษัตริย์ลิจฉวีทรงซักไซ้ไล่เลียงด้วยประการต่างๆ ก็หลงกลวัสสการพราหมณ์ ทรงรับไว้ทำราชการในตำแหน่งอำมาตย์ผู้พิจารณาพิพากษาคดีและตั้งเป็นครูฝึกสอนศิลปวิทยาแก่ ราชกุมารของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีด้วย จากนั้นต่อมา พราหมณ์เฒ่าก็ทำที่ปฎิบัติงานในหน้าที่อย่างดี ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง จนหมู่กษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัย
แผนการทำลายความสามัคคีได้เริ่มจากวัสสการพราหมณ์ใช้กลอุบายให้บรรดาราชโอรสกษัตริย์ลิจฉวีระแวงกัน โดยแกล้งเชิญแต่ละองค์ไปพบเป็นการส่วนตัว แล้วถามปัญหาธรรมดาที่รู้ๆ กันอยู่ เมื่อองค์อื่นซักเรื่องราวว่าสนทนาอะไรกับอาจารย์บ้าง แม้ราชกุมารองค์นั้นจะตอบความจริง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือ ก่อให้เกิดความระแวงและแตกร้าวในบรรดาราชกุมาร กระทั่งลุกลามไปสู่กษัตริย์ลิจฉวี ผู้เป้นพระราชบิดาทุกองค์ ทำให้ความสามัคคีค่อยๆ เสื่อมลงจนกระทั่งไม่เข้าร่วมประชุมราชสภา หรือได้ยินเสียงกลองก็ไม่สนใจประชุม เมื่อมาถึงขั้นนี้
วัสสการพราหรณ์จึงลอบส่งข่าวไปให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาตีแคว้นวัชชีได้เป็นผลสำเร็จ
สามัคคีเภทคำฉันท์ แต่งขึ้นเพื่อมุ่งสรรเสริญธรรมแห่งความสามัคคีเป็นแก่นของเรื่อง และหลักธรรมข้อนี้ไม่ล้าสมัย สามารถยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่หมู่ชนที่มีความพร้อมเพรียงกันพัฒนาสังคม หากนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

สามัคคีเภทคำฉันท์
คำว่าสามัคคีเภท เป็นคำสมาส เภท มีความหมายว่า การแบ่ง การแตกแยก การทำลาย สามัคคีเภท มีความหมายว่า การแตกความสามัคคี หรือ การทำลายความสามัคคี
ผู้แต่ง นายชิต บุรทัต กวีในรัชกาลที่ ๖ ในขณะที่บรรพชาเป็นสามเณร อายุเพียง ๑๘ ปี ได้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในงานราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ ๖ เมื่ออายุ ๒๒ ปี ได้ส่งกาพย์ปลุกใจลงในหนังสือพิมพ์ สมุทรสาร นายชิต
มีนามสกุลเดิมว่า ชวางกูร ได้รับพระราชทานนามสกุล “บุรทัต” จากพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าฯ ในปี ๒๔๕๐ เมื่ออายะ ๒๓ ปี ใช้นามปากกาว่า เจ้าเงาะ เอกชน และแมวคราว
รูปแบบ แต่งเป็นบทร้อยกรอง โดยนำฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อหาแต่ละตอน ประกอบด้วยฉันท์ ๑๘ ชนิด กาพย์ ๒ ชนิด คือ กาพย์ฉบัง ๑๖ และ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
ที่มาของเรื่อง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เกิดวิกฤตการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง นายชิต บุรทัต จึงได้แต่งเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เพื่อมุ่งชี้เภท เป็นนิทานสุภาษิต ในมหาปรินิพพานสูตร และอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกายมหาวรรค ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ ของมหามกุฎราชวิทยาลัย โดยเรียบเรียงเป้าษาบาลี
จุดประสงค์ในการแต่ง นายชิต บุรทัต อาศัยเค้าคำแปลของเรื่องสามัคคีเภทมาแต่งเป็นคำฉันท์ เพื่อแสดงความสามารถในเชิงกวีให้เป็นที่ปรากฏ และเป็นพิทยาภรณ์ประดับบ้านเมือง
ความสำคัญของการรวมกันเป็นหมู่คณะ เรื่องสามัคคี

ข้อคิดที่ควรพิจารณา จากเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์
๑. การขาดการพิจารณาไตร่ตรอง นำไปซึ่งความสูญเสีย ดังเช่น เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี “ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง” คือ ขาดความสามารถในการใช้ปัญญา
ตริตรองพิจารณาสอบสวน และใช้เหตุผลที่ถูกต้อง จึงหลงกลของวัสสการพราหมณ์ ถูกยุแหย่ให้แตกความสามัคคีจนเสียบ้านเสียเมือง
ในรัชกาลที่ ๖ ด้วยเหตุที่คนไทยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการบ้านเมืองแตกต่างกันหลายฝ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กวีจึงนิยมแต่งวรรณคดีปลุกใจขึ้นเป็นจำนวนมาก สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องหนึ่งในจำนวนนั้น
นายชิต บุรทัต แต่งเรื่องนี้ขึ้น โดยมุ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี เพื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ในปัจจุบันกระแสชาตินิยมลดลง แต่ความสามัคคีก็เป็นหลักธรรมสำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ วรรณคดีเรื่องนี้จึงเป็นเนื้อหาที่มีคติสอนใจทันสมัยอยู่เสมอ
๒. แนวคิดของเรื่องสามัคคีเภท สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิทานสุภาษิตสอนใจให้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี และแสดงให้เห็นความสำคัญของการใช้สติปัญญาให้เกิดผลโดยไม่ต้องใช้กำลัง
๓. ข้อคิดเห็นระหว่างวัสสการพราหมณ์กับกษัตริย์ลิจฉวี บางคนอาจมีทรรศนะว่า วัสสการพราหมณ์ขาดคุณธรรม ใช้อุบายล่อลวงผู้อื่นเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน แต่มองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า วัสสการพราหมณ์น่ายกย่องตรงที่มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอชาตศัตรูและต่อบ้านเมือง ยอมถูกลงโทษเฆี่ยนตี ยอมลำบาก จากบ้านเมืองตนไปเสี่ยงภัยในหมู่ศัตรู ด้องใช้ความอดทน สติปัญญาความสามารถอย่างสูงจึงจะสัมฤทธิผลตามแผนการที่วางไว้
ส่วนกษัตริย์ลิจฉวีเคยใช้หลักอปริหานิยธรรมร่วมกันปกครองแคว้นวัชชีให้มั่นคงเจริญมาช้านาน แต่เมื่อถูกวัสสการพรามหณ์ใช้อุบายยุแหย่ให้แตกความสามัคคี
ก็พ่ายแพ้ศัตรูได้โดยง่ายดาย
๔. เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ให้อะไรกับผู้อ่าน ข้อคิดสำคัญที่ได้จากเรื่อง คือ โทษของการแตกความสามัคคี ส่วนแนวคิดอื่น ๆ มีดังนี้
๔.๑ การใช้ปัญญาเอาชนะศัตรูโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
๔.๒ การเลือกใช้บุคคลให้เหมาะสมกับงานจะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี
๔.๓ การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองก่อนทำการใด ๆ เป็นสิ่งที่ดี
๔.๔ การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม
๕. ศิลปะการประพันธ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์ นายชิต บุรทัต สามารถสร้างตัวละคร เช่น วัสสการพราหมณ์ ให้มีบุคลิกเด่นชัด และสามารถดำเนินเรื่องให้ชวนติดตาม นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ ดังนี้
๕.๑ เลือกสรรฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน เช่น ใช้วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ซึ่งมีลีลาไพเราะ ชมความงามของเมืองราชคฤห์ ใช้อีทิสังฉันท์ ๒๐ ซึ่งมีลีลากระแทกกระทั้นแสดงอารมณ์โกรธ
๕.๒ ดัดแปลงฉันท์บางชนิดให้ไพเราะยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มสัมผัสบังคับคำสุดท้ายของวรรคแรกกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ ในฉันท์ ๑๑ ฉันท์ ๑๒ และฉันท์ ๑๔ เป็นที่นิยมแต่งตามมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นายชิต บุรทัต ยังเพิ่มลักษณะบังคับ ครุ ลหุ สลับกันลงในกาพย์สุรางคนาง ๒๘ ให้มีจังหวะคล้ายฉันท์ด้วย
๕.๓ เล่นสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรอย่างไพเราะ เช่น คะเนกล – คะนึงการ ระวังเหือด – ระแวงหาย
๕.๔ ใช้คำง่าย ๆ ในการเล่าเรื่อง ทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว และผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ทันที
๕.๕ ใช้คำง่าย ๆ ในการบรรยายและพรรณนาดัวละครได้อย่างกระชับ และสร้างภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน
อปริหานิยธรรม ๗ ประการ
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติเอาไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมตามที่วางไว้เดิม
๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี ก็ควรเคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง
๕. บรรดากุลสตรีและกุลกุมารีทั้งหลายให้อยู่ดี โดยมิถูกข่มเหงหรือฉุดคร่าขืนใจ
๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป
๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง และป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

คุณค่างานประพันธ์
๑.ด้านวรรณศิลป์
– ใช้ฉันทลักษณ์ได้อย่างงดงามเหมาะสม โดยเลือกฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันตามความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง จึงเกิดความไพเราะสละสลวย
– ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน
๒. ด้านสังคม
– เน้นโทษของการแตกความสามัคคีในหมู่คณะ
– ด้านจริยธรรม เน้นถึงหลักธรรม อปริหานิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม
– เน้นถึงความสำคัญของการใช้สติปัญญาตริตรอง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กำลัง

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น